น้ำดื่ม คุณภาพที่ผู้บริโภควางใจ
น้ำดื่ม คุณภาพที่ผู้บริโภควางใจ โยษิตา เป็นนักข่าวมือใหม่ หัวหน้าได้มอบหมายให้ไปทำสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับน้ำดื่มตามลำพัง ซึ่งเป็นการฉายเดี่ยวครั้งแรกหลักจากติดตามพี่นักข่าวมาร่วม 2 ปี ประเด็นหลักของสกู๊ปข่าวเรื่องนี้มีที่มาจากการที่ปัจจุบันมีน้ำดื่มหลายประเภทออกมาวางจำหน่าย ซึ่งสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมากว่าจะเลือกซื้อน้ำดื่มแบบใดดี โยษิตาจึงวางพล็อตของข่าวออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ความรู้เชิงวิชาการของน้ำดื่ม ข้อบังคับทางกฎหมายเกี่ยวกับน้ำดื่ม และกรรมวิธีการผลิตน้ำดื่ม ก่อนจะเริ่มหาข้อมูลและติดต่อบุคคลที่สามารถให้ความรู้หรือข้อคิดเห็นตามพล็อตของงานที่วางไว้
และวันนี้ โยษิตามีนัดกับอาจารย์รักตะกันต์ ซึ่งเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเกี่ยวกับน้ำดื่มมานาน ช่วงบ่ายหลังจากเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัย โยษิตาจึงเข้าไปพบอาจารย์รักตะกันต์ที่ห้องทำงาน “สวัสดีค่ะ อาจารย์ หนู โยษิตา มาพบอาจารย์ตามที่นัดไว้ค่ะ” โยษิตายกมือไหว้ทักทาย พร้อมกับแนะนำตนเอง อาจารย์รักตะกันต์รับไหว้ พร้อมกับผายมือให้โยษิตานั่งลงที่เก้าอี้หน้าโต๊ะทำงาน หลังจากถามไถ่เรื่องราวอื่นๆ แล้ว อาจารย์รักตะกันต์จึงกล่าวว่า “อันที่จริงร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึงร้อยละ 60 เลยนะ แต่น้ำพวกนี้ก็ถูกกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ ทางเหงื่อ ทางไอน้ำจากการหายใจ น้ำตา น้ำลาย แล้วก็อุจจาระด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องชดเชยน้ำที่สูญเสียไปด้วยการดื่มน้ำหรือจากการกินอาหาร”
โยษิตาถามขึ้นว่า “แล้วที่เค้าบอกกันว่า อดอาหารยังรอดได้เป็นหลายสัปดาห์ แต่ถ้าอดน้ำแค่ 2 วันก็อาจจะตายได้ มันจริงหรือเปล่าคะ” “จริงครับ” อาจารย์รักตะกันต์ตอบ พร้อมกล่าวต่อไปว่า “พอร่างกายขาดน้ำ จะมีผลให้หัวใจหยุดเต้น ส่วนเซลล์ต่างๆ ในร่างกายก็ฝ่อลง สุดท้ายร่างกายก็ไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อีก เพราะฉะนั้นคนป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤติ แพทย์จึงต้องฉีดน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำหรือให้ผ่านท่อยางที่ต่อลงไปถึงกระเพาะ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ”
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับน้ำดื่มที่ผลิตมาให้มีรสชาติอร่อยนั้น อาจารย์รักตะกันต์ให้ข้อคิดเห็นว่า “ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเติมอะไรลงไปในน้ำดื่มเลยครับ หากผู้บริโภครับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ แล้วรับประทานผลไม้เพิ่มเติมด้วย แค่นี้ร่างกายคนเราก็ได้แร่ธาตุที่จำเป็นครบถ้วนแล้ว การสร้างรสชาติให้น้ำดื่มเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลที่สุดเลย เพราะอะไรหรือ เพราะน้ำดื่มไม่ใช่อาหาร ไม่จำเป็นต้องอร่อยจนต้องดื่มเพิ่ม ร่างกายเรามีกลไกช่วยอยู่แล้ว อย่างเวลาอากาศร้อน ร่างกายจะแสดงอาการกระหายน้ำ เราก็ไปดื่มน้ำเพิ่มขึ้น แต่พออากาศเย็น เราก็ไม่ค่อยดื่มน้ำแล้ว เพราะไม่ได้เสียน้ำไปทางเหงื่อ”
“แล้วกรณีที่มีการเติมสารต่างๆ รวมถึงแร่ธาตุเพื่อให้น้ำดื่มมีค่าพีเอชสูงขึ้น อาจารย์คิดว่าจำเป็นหรือเปล่าคะ” โยษิตาถาม อาจารย์รักตะกันต์บอกว่า “การมีสารต่างๆ รวมถึงแร่ธาตุปะปนในน้ำดื่ม ไม่ได้ช่วยให้ร่างการดูดซึมน้ำให้เร็วขึ้นหรอกนะ ถ้าเป็นน้ำดื่มปกติ ร่างกายจะดูดซึมเข้าไปในเซลล์ได้ทันที แต่น้ำที่มีสารอื่นๆ ปะปนอยู่ ร่างกายต้องนำไปเข้ากระบวนการกำจัดเสียก่อน แล้วถ้ามีสารเจือปนมากๆ ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย เมื่อกำจัดไม่ได้ก็จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว”
หลังจากผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง การสัมภาษณ์จึงสิ้นสุดลง โยษิตาจึงอำลาอาจารย์รักตะกันต์กลับมาสำนักงาน เพื่อเก็บข้อมูลที่ได้เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมกับโทรศัพท์ยืนยันการเข้าพบคริษฐ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานผลิตน้ำดื่มแห่งหนึ่ง คริษฐ์ต้องการให้โยษิตาไปพบช่วงหลังหยุดกระบวนการผลิต เนื่งจากต้องควบคุมกระบวนการผลิตอย่างใกล้ชิดจนไม่สามารถปลีกตัวมาพบในระหว่างงานได้ เมื่อไปถึงโรงงานผลิตน้ำดื่ม คนงานบางส่วนก็เริ่มทยอยเดินทางออกจากโรงงาน โยษิตาเดินตรงเข้าไปที่อาคารสำนักงานซึ่งอยู่ด้านหน้าพื้นที่โรงงาน ก็พบว่าคริษฐ์นั้นรออยู่แล้ว ทั้งสองทักทายกัน ก่อนที่จะเข้าไปที่ห้องประชุมของโรงงาน
“นั่งพัก ดื่มน้ำก่อนครับคุณโย เดินทางมาเหนื่อยๆ” คริษฐ์บอกโยษิตา หลังจากนั่งลงและดื่มน้ำเรียบร้อยแล้ว คริษฐ์จึงอิบายกระบวนการผลิตน้ำดื่มของโรงงานตนเองให้โยษิตาฟัง ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมน้ำดิบ ไปจนกระทั่งได้น้ำดื่มบรรจุขวดออกมา จากนั้นโยษิตาจึงสอบถาม “คุณคริษฐ์คะ น้ำดื่มที่ผลิตขึ้นนี้มีการตรวจสอบอย่างไรบ้างคะ” ซึ่งคริษฐ์ตอบว่า “โรงงานแห่งนี้ผ่านการรับรองสถานที่ผลิตจาก อ.ย. ครับ น้ำดื่มบรรจุขวดก็ถูกตรวจสอบจาก อ.ย. เช่นกัน จะเห็นจากเครื่องหมาย อ.ย. หรือเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ที่อยู่บนฉลากของขวดนั่นไงครับ สำหรับมาตรฐานของน้ำดื่มที่โรงงานผลิตขึ้นนแกเหนือจากอ้างอิงมาตรฐานของ อ.ย. แล้ว ทางเรายังใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เรื่อง น้ำบริโภค มาใช้ประกอบการผลิตด้วยครับ เพราะเรามองว่าร่างกายของเราทุกคนต้องการน้ำสะอาด ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค รวมทั้งมีสารอื่นๆ เจือปนน้อยที่สุดด้วยครับ”
ซึ่งทางคริษฐ์ก็นำผลการตรวจสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาให้ดู เอกสารนั้นระบุว่า น้ำดื่มของโรงงานมีลักษณะใส มีค่าพีเอชเป็นกลาง ส่วนปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ก็ไม่เกินที่กำหนด แร่ธาตุดังกล่าว อย่างเช่น คลอไรด์ ทองแดง สังกะสี เหล็ก ปริมาณโลหะหนักอย่างเช่น ปรอท ตะกั่ว ก็อยู่ในขอบเขต เช่นเดียวกับปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมด คริษฐ์กล่าวเสริมในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ว่า “อันที่จริงแล้ว ผู้บริโภคสามารถเตรียมน้ำที่สะอาดได้เอง ก็คือ น้ำที่ต้มให้สุก เพราะน้ำที่ต้มจนสุกแล้วสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ อีกทั้งทำให้คลอรีนในน้ำประปาระเหยออกไปหมดครับ
แต่อาจจะมีสารอินทรีย์บางส่วนตกค้างอยู่ ซึ่งก็แยกออกได้ไม่ยากครับ เพียงปล่อยให้เย็น สารดังกล่าวก็จะตกตะกอนอยู่ก้นกาต้มน้ำ เราก็เพียงรินน้ำที่อยู่ส่วนบนไปใส่ภาชนะสะอาดๆ เพียงเท่านั้นผู้บริโภคก็ได้น้ำสะอาดไว้ดื่มแล้วครับ” คริษฐ์กล่าวต่อไปว่า “เพียงแต่ผู้บริโภคสมัยนี้อาจจะไม่มีเวลามาต้มน้ำดื่ม ผู้ผลิตแบบเราจึงผลิตน้ำดื่มสะอาดๆ ให้แทนครับ”
วันต่อมาช่วงเช้า โยษิตาเดินทางไปดรัณภพ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งข้อมูลที่โยษิตาต้องการจะเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการผลิตน้ำดื่ม เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรฐานที่เรียกว่า “น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่คนทั่วไปรู้จักกัน โดยกระทรวงก็สร้างมาตรฐานขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของน้ำดื่ม และดื่มได้อย่างปลอดภัย ที่ห้องทำงานของดรัณภพ เขาพาโยษิตาไปนั่งที่โต๊ะประชุมเล็กๆ พร้อมกับบอกโยษิตาว่า “ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สร้างข้อกำหนดสำหรับผู้ผลิตน้ำดื่มไว้ 2 ประการคือ ด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งคุณโยคงได้รับทราบจากโรงงานผลิตน้ำดื่มไปแล้วนะครับ กับอีกประการคือ ด้านสุขลักษณะการผลิต ซึ่งทางเราจะกำหนดให้ผู้ผลิตเค้าปฎิบัติตามในเรื่องต่างๆ”
เรื่องสถานที่ตั้งและอาคารผลิต ต้องมีความเหมาะสมต่อการผลิต เช่น แยกที่ผลิตกับที่อยู่อาศัยออกจากกัน ทางเข้าต้องกันแมลงเข้าได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต จะต้องมีเครื่องหรืออุปกรณ์สำหรับผิตที่ต้องออกแบบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เรื่องภาชนะบรรจุ ต้องใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษ กรณีการควบคุมคุณภาพ ผู้ผลิตวิเคราะห์คุณภาพของน้ำดื่มเป็นประจำ และด้านบุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงานนั้น ต้องตรวจสุขภาพพนักงานอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ต้องแต่งกายสะอาด ไม่ทำนิสัยการทำงานที่น่ารังเกียจใดๆ
เดี๋ยวนี้ ตลาดน้ำดื่มมีการแข่งขันกันสูงนะครับ ผู้ผลิตก็ใช้กลยุทธมากมายเพื่อให้แข่งขันกับรายอื่นได้ แต่สิ่งที่กระทรวงเน้นอยู่เสมอก็คือ การผลิตอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้กลยุทธด้านคุณภาพ และถือว่าเป็นหัวใจของการผลิตน้ำดื่มเลยทีเดียว หากทำได้อย่างที่มาตรฐานกำหนด ผู้บริโภคก็จะยอมรับและซื้อผลิภัณฑ์นั้นตลอดไป” ดรัณภพกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ ในที่สุดงานเดี่ยวชิ้นแรกของโยษิตาก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เหลือเพียงการนำเสนอให้หัวหน้าฟัง ซึ่งโยษิตามั่นใจว่าด้วยข้อมูลที่ได้มาคงทำให้ผ่านไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก