โรงเรียนบ้านหนองกระทุ่ม

หมู่ที่ 10 บ้านหนองกระทุ่ม ตำบล หนองโพ อำเภอ โพธาราม จังหวัด ราชบุรี 70120

Mon - Fri: 9:00 - 17:30

032 389404

อาหารปลอดภัยไม่ท้องเสีย

อาหารปลอดภัย ไม่ท้องเสีย

อาหารปลอดภัย
อาหารปลอดภัย ไม่ท้องเสีย หลายคนชอบกล่าวว่า เมืองไทยนั้นมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน กับฤดูร้อนที่สุด นี่คือเสียงสะท้อนถึงสภาพอากาศของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งบางวันอาจจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูร้อนก็ตาม และด้วยอากาศที่ร้อนแบบนี้ทำให้มีคนไทยส่วนหนึ่งประสบกับอาการท้องเสีย บางส่วนที่รุนแรงมากก็จะเป็นโรคอาหารเป็นพิษซึ่งมักจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายหลายครั้ง ปวดท้อง และมีไข้ การที่สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงถึง 35 องศาเซลเซียส หรืออาจจะสูงถึง 40 องศาเซลเซียสนั้น จุลินทรีย์ต่างๆ ทั้งชนิดก่อโรคและไม่ก่อโรคจะเจริญเติบโตได้ดี แล้วเพิ่มปริมาณมากขึ้นได้

และเมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้ปนเปื้อนเข้าไปในอาหารหรือน้ำผ่านช่องทางต่างๆ ครั้นมีผู้รับประทานอาหารดังกล่าว ก็เสมือนรับเอาระเบิดเวลาเข้าไปในร่างกาย รอเวลาที่จุลินทรีย์เพิ่มปริมาณมากขึ้นหรือสร้างสารพิษขึ้นมาทำร้ายร่างกาย คนผู้นั้นก็จะป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายจึงต้องมีวิธีปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. แหล่งอาหารที่ไว้วางใจ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้ออาหารเพื่อรับประทานได้จากหลากหลายแหล่ง ทั้งจากรถเร่ แผงลอยตามบาทวิถี ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร ร้านโชว์ห่วย ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งแต่ละแหล่งก็อาจจะเชื่อถือได้ต่างกัน แม้จะเป็นร้านค้าที่ทันสมัยแต่ก็อาจจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัยได้ หากปราศจากความรู้ในการจัดการอาหารเชิงความปลอดภัย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงได้มีการรับรองร้านค้าที่จำหน่ายอาหารถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารหรือ Food Safety ดังเช่น การรับรองมาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย”

หรือ Clean Food Good Taste โดยมาตรฐานนี้จะกำหนดสุขลักษณะของร้านค้า ทั้งในเรื่องความสะอาดของสถานที่ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ขายและผู้ประกอบอาหารต้องเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม กรณีที่จำหน่ายอาหารทะเล ซึ่งมักถูกพบว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคอาหารเป็นพิษ

ก็ต้องมีวิธีการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม โดยเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ที่สำคัญอาหารทะเลนั้นต้องสดและปราศจากกลิ่นผิดปกติ หากต้องการซื้อสินค้าอาหารจากรถเร่ ซึ่งก็มีทั้งรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รวมทั้งรถยนต์ จะต้องให้ความใส่ใจอย่างใกล้ชิดและเลือกซื้ออาหารด้วยความระมัดระวัง เพราะยานพาหนะดังกล่าวจะไม่มีระบบทำความเย็นสำหรับอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์และอาหารทะเล ผู้ขายนิยมใส่เนื้อสัตว์ไว้ในภาชนะบรรจุน้ำแข็งที่มักจะละลายไปตลอดเวลาในช่วงอากาศที่ร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิในการเก็บรักษาเนื้อสัตว์ละอาหารทะเลดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น

จึงทำให้เกิดการเน่าเสียขึ้น ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องซื้อจึงควรดูว่าสีเปลี่ยนหรือไม่ และมีกลิ่นผิดปกติไหม หากไปซื้ออาหารที่เตรียมเสร็จแล้วเช่น กับข้าว ขนมหวาน ที่ผู้ขายบรรจุไว้ในถุงพลาสติกเตรียมไว้ขายนั้น ก่อนซื้อต้องพิจารณาดูฟองแก๊ส ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเกิดการบูดแล้ว ก็ไม่ควรซื้อ ส่วนอาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิทั้งแกงกะทิ ขนมหวานใส่น้ำกะทิ ควรหลีกเลี่ยงที่จะซื้อมารับประทาน เพราะในสภาพอากาศร้อนกะทิจะเสียง่าย
2. ใช้การล้างให้เหมาะสม สำหรับผู้บริโภคที่นิยมซื้อของสดเพื่อนำมาเตรียมอาหารรับประทานนั้น จำเป็นต้องล้างของสดเหล่านั้นเสียก่อนเพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนอยู่

สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น บางอย่างก็เห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น เศษดินทราย กิ่งไม้ หนอน แมลง แต่บางอย่างก็ไม่สามารถมองเห็นได้เช่น เชื้อโรค สารกำจัดศัตรูพืช ดังนั้นการล้างของสดด้วยวิธีที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น การล้างเนื้อสัตว์รวมถึงอาหารทะเลด้วยน้ำเกลือจะช่วยลดกลิ่นคาวลงได้ ส่วนการล้างผักและผลไม้สามารถทำได้หลายวิธี โดยเริ่มต้นด้วยการล้างด้วยน้ำเปล่า จากนั้นแช่ลงในสารละลายที่เตรียมได้จากสิ่งที่มีอยู่ในครัวเรือน เช่น สารละลายเกลือ สารละลายน้ำส้มสายชู สารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนต โดยแช่ไว้15-30 นาที ก่นนำมาล้างด้วยน้ำเปล่าเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากใช้ผักที่มีกาบใบเรียงซ้อนกันหลายชั้น เช่น ผักสลัด ผักกาดขาว กะหล่ำปลี จะต้องแยกใบออกมาก่อนนำไปล้าง

3. ผสมผสานสุขลักษณะขณะปรุง การปรุงอาหารที่ดีนั้น อาหารต้องได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ความร้อนจะต้องเข้าไปจนถึงใจกลางของชิ้นเนื้อจึงจะทำให้สุกทั้งนอกและใน การรับประทานอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ จะมีจุลินทรีย์บางส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่และสามารถเข้าไปทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ นอกจากวิธีการปรุงให้สุกแล้ว ต้องผสมผสานสุขลักษณะของตัวของผู้ปรุงอีกด้วย ผู้ปรุงอาหารต้องยึดหลักความสะอาดเป็นสำคัญ ต้องไม่ทำให้ตนเองเป็นต้นเหตุของโรคอาหารเป็นพิษเสียเอง เริ่มจากการแต่งกายก็ต้องสวมหมวกคลุมผม

ใส่ผ้ากันเปื้อน มีถุงมือสำหรับใช้หยิบจับอาหารที่สุกแล้ว ก่อนเข้ามาทำอาหารก็ต้องล้างมือให้สะอาดตั้งแต่ปลายเล็บไปจนถึงข้อมือ นอกจากนี้ อุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้เตรียมและปรุงอาหารต้องทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เช่น เขียงที่ใช้หั่นไก่ต้มสำหรับข้าวมันไก่ หมูแดงหมูกรอบสำหรับข้าวหมูแดงหมูกรอบ

4. มุ่งเก็บรักษาอาหารให้ดี เนื้อสัตว์ที่ซื้อมาแล้ว ควรทำความสะอาดก่อนนำไปเก็บรักษาในตู้เย็นซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส อาหารทะเลก็เช่นกัน การแช่เย็นไม่ได้เป็นการทำลายจุลินทรีย์ แต่เป็นการหยุดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ การจำหน่ายอาหารที่พร้อมรับประทานได้ทันทีจะต้องใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด หากทำได้ก็ควรอุ่นอาหารนั้นตลอดระยะเวลาการขาย หากทำไม่ได้ก็นำมาอุ่นอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อครั้ง เมื่อผู้บริโภคซื้ออาหารมาเพื่อรับประทานที่อื่นที่ไม่ใช่ที่ร้าน ก็ควรจะรับประทานทันทีที่ถึงสถานที่ที่ต้องการ หากยังไม่รับประทานก็เก็บเข้าตู้เย็น

5. มีหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” คำว่า “กินร้อน” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ โดยเป็นอาหารที่สุก เลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ถึงแม้ว่าอาหารพื้นถิ่นหลายชนิดนิยมรับประทานแบบดิบ แต่ก็สามารถนำมาปรุงให้สุกได้ ซึ่งก็ให้รสชาติอร่อยไม้แพ้กัน ส่วนอาหารที่ปรุงเสร็จแต่เก็บไว้ในตู้เย็นก่อนนำมารับประทานก็ต้องนำมาให้ความร้อนอย่างทั่วถึงก่อน ส่วนน้ำแข็ง แม้จะไม่ใช่อาหารที่กินร้อนแต่ก็ต้องพิจารณาเลือกที่สะอาด ได้มาตรฐาน เช่น มีเครื่องหมาย อ.ย. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีที่สะอาดถูกหลักอนามัย “ช้อนกลาง”

คือช้อนตักอาหารในเวลาที่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เพราะเชื้อโรคหลายชนิดสามารถติดต่อได้ทางน้ำลาย ช้อนกลางจึงช่วยผู้รับประทานอาหารร่วมกันหลีกเลี่ยงจากโรคติดจ่อบางชนิดได้ “ล้างมือ” เป็นวิธีปฏิบัติด้านสุขลักษณะอย่างง่ายๆ เพราะมือของแต่ละคนนั้นสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อมซึ่งแน่นอนย่อมมีเชื้อโรคอยู่ในสภาพแบบนั้นด้วย การล้างมือให้ถูกต้องจึงช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้